ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง. ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ ๑. มารดา ๒. บิดา
ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสอง นั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัด
และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ.
ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดา บิดาเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดา บิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่
อันมีรตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้ การกระทำกิจอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดา บิดาเลย.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้ แก่บุตรทั้งหลาย.
ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา).
ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล).
ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค).
ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา).
ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา.
ทุก. อํ. ๒๐/๗๘/๒๗๘.
(ปาณาติปาตา เวรมณี) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์)
วางท่อนไม้ และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา
หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่.
(อทินนาทานา เวรมณี) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน (ลักทรัพย์)
ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาดเป็นอยู่.
(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี) เธอนั้น ละการประพฤติผิดในกาม
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด) ในหญิงซึ่งมารดารักษา บิดารักษา
พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม
โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย)
ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
(มุสาวาทา เวรมณี) เธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท
พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก.
(สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี) เธอนั้นเว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งของความประมาท.
สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓. ที่มาเฉพาะข้อกาเมฯ : ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๗-๒๘๘/๑๖๕. ที่มาเฉพาะข้อสุราฯ : ปา. ที. ๑๑/๒๔๓/๒๘๖.
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
กระทำกรรมใดไว้ ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคน ในกรณีนี้
ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต
วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย.
เขาไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) กาย
ไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) วาจา
ไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) ใจ;
กายกรรมของเขาตรง
วจีกรรมของเขาตรง
มโนกรรมของเขาตรง
คติของเขาตรง อุปบัติของเขาตรง.
ภิกษุทั้งหลาย ! สำหรับผู้มีคติตรง มีอุปบัติตรงนั้น เรากล่าวคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาคติสองอย่างแก่เขา
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือว่าตระกูลอันสูง ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล
หรือ ตระกูลคหบดีมหาศาลอันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์มาก...
(ในกรณีแห่งบุคคลผู้ไม่กระทำอทินนาทาน ไม่กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีของผู้ไม่กระทำปาณาติบาต ดังกล่าวมาแล้วข้างบนทุกประการ). ทสก. อํ. ๒๔/๓๑๑/๑๙๓.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปาณาติบาต ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวงคือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ มีอายุสั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! อทินนาทาน ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ ความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์.
ภิกษุทั้งหลาย ! กาเมสุมิจฉาจาร ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ ก่อเวรด้วยศัตรู.
ภิกษุทั้งหลาย ! มุสาวาท ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ การถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปิสุณาวาท (คำยุยงให้แตกกัน) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งปิสุณาวาทของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ การแตกจากมิตร.
ภิกษุทั้งหลาย ! ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวงคือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ การได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมผัปปลาปวาท (คำเพ้อเจ้อ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้วทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งสัมผัปปลาปวาทของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อวาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ.
ภิกษุทั้งหลาย ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย
วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ ความเป็นบ้า (อุมฺมตฺตก). อฏฐก. อํ. ๒๓/๒๕๑/๑๓๐.
ภิกษุทั้งหลาย ! กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย และทั้งไม่ใช่ของบุคคลเหล่าอื่น.
ภิกษุทั้งหลาย! กรรมเก่า (คือกาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่า
เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น (อภิสงฺขต),
เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น (อภิสญฺเจตยิต),
เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้ (เวทนีย).
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีของกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว
ย่อมทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท นั่นเทียว ดังนี้ว่า
“ ด้วยอาการอย่างนี้ :
ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ
เพราะสิ่งนี้มี, สิ่งนี้จึงมี; เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้, สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เพราะสิ่งนี้ไม่มี, สิ่งนี้จึงไม่มี; เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้, สิ่งนี้จึงดับไป :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ แล.
เพราะความจางคลายดับไป โดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น,
นิทาน. สํ. ๑๖/๗๗/๑๔๓.
เพราะอาศัยตัณหา (ความอยาก) จึงมีการแสวงหา (ปริเยสนา); เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ); เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย); เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค); เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ) ; เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห); เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงมี ความตระหนี่ (มจฺฉริยํ) ; เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมี การหวงกั้น(อารกฺโข); เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ) ;
กล่าวคือ การใช้อาวุธ ไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จทั้งหลาย
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม ด้วยอาการอย่างนี้. มหา. ที. ๑๐/๖๗-๗๒/๕๘-๕๙.
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้. อุปริ. ม. ๑๔/๑๙๕/๒๘๙.
ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวร้านตลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ
เป็นผู้ควรเพื่อจะได้ผลกำไรที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำผลกำไรที่ได้รับอยู่แล้ว ให้งอกงามออกไป.
๓ ประการ อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ ประการ คือ :-
ชาวร้านตลาด ในกรณีนี้
ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุดในเวลาเช้า;
ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุดในเวลากลางวัน;
ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุดในเวลาเย็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวร้านตลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการเหล่านี้แล
เป็นผู้ควรเพื่อจะได้ผลกำไรที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำผลกำไรที่ได้รับอยู่แล้ว ให้งอกงามออกไปนี้ฉันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ
เป็นผู้ควรเพื่อจะบรรลุกุศลธรรม ที่ยังไม่บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้ว ให้งอกงามยิ่งขึ้นไป.
๓ ประการ อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ ประการ คือ :-
ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลาเช้า;
ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลากลางวัน;
ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลาเย็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้นไป. ติก. อํ. ๒๐/๑๔๕/๔๕๘.
อานนท์ ! เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก, จักนอน
(ประทับสีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาล โปรยลงบนพระสรีระ,
ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น; เพื่อบูชาตถาคตเจ้า).
อานนท์ ! การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่.
อานนท์ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติตามธรรมอยู่;
ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า
“เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้. มหา. ที. ๑๐/๑๕๙-๖๐/๑๒๘-๙.
อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
“ธรรมวินัยของพวกเรา มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้.
อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น.
อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา. มหา. ที. ๑๐/๑๘๙/๑๒๘.
ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนี้.
นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า. มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.
ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว :
กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า "อานกะ" มีอยู่ เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตกหรือลิ,
พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่มเสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป).
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้ง หลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง
ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น;
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลยืดยาว ฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย,สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต
เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่;
เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิต เพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร
เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่;
เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต
เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล. นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓.
อัคคิเวสนะ ! เรานั้นหรือ จำเดิมแต่เริ่มแสดง กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ
ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิตอันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีจิตเป็นเอก
ดังเช่นที่คนทั้งหลายเคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำดังนี้. มู. ม. ๑๒/๔๖๐/๔๓๐.
ภิกษุทั้งหลาย !
นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ,
ตลอดเวลาระหว่างนั้นตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใด
ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย. อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลายเป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้
อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฐิโก),
เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล (อกาลิโก),
เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก),
ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก)
อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺต เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ) . มู. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๑.
อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
“ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้.
อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น.
อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา.
อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี
ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา
ภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล. มหา. ที. ๑๐/๑๕๘/๑๔๑.
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด,
ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น. สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๑/๒๑.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้,
สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรอง ประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร
เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่
เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต
เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่;
เธอย่อมฟังด้วยดีย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิต เพื่อจะรู้ทั่วถึงและย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน
จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.
ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้,
ความสงสัยในธรรมหลายประการ ที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า
"บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง
หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่"
(ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล. ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.